วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

ใบความรู้ที่ ๑



ใบความรู้ที่ ๒


ใบความรู้ที่ ๒



ใบความรู้ที่ ๒
เรื่อง เทคนิคการเขียนเรียงความที่ดี
ลักษณะเรียงความที่ดี
          ๑.  มีเอกภาพ  หมายความว่า  เนื้อเรื่องจะต้องมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไม่กล่าวนอกเรื่อง  เรียงความ จะมีเอกภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการว่างโครงเรื่อง
          ๒.  มีสัมพันธภาพ  หมายความว่า  เนื้อหาจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตลอด
ทั้งเรื่อง  ความสัมพันธ์ ต่อเนื่องของเนื้อหาเกิดจากการจัดลำดับความคิด  และการวาง
โครงเรื่องที่ดี  และเกิดจากการเรียบเรียงย่อหน้า  อย่างมีระเบียบ 

          ๓.  มีสารัตถภาพ  หมายความว่า  เรียงความแต่ละเรื่องจะต้องมีสาระสมบูรณ์ตลอด
ทั้งเรื่อง  ความสมบูรณ์  ของเนื้อหาเกิดจากการวางโครงเรื่องที่ดี 

 หลักการเขียนคำนำ
          นักเรียนจะต้องเลือกวิธีการเขียนคำนำให้เหมาะสมกับประเภทของงานเขียนเนื้อหาที่
เขียนรวมทั้งรับสารด้วย ปกติมักจะนิยมเขียนคำนำเพียงย่อหน้าเดียว  การเขียนคำนำสามารถ
กระทำได้หลายวิธี  
          ลักษณะของคำนำที่ดี

          -  ควรเขียนคำนำให้ตรงและสอดคล้องกับเรื่องที่เขียน

          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่อ้อมค้อม  มีเนื้อหาไกลจากเรื่องที่เขียน  อาจทำให้ผู้อ่าน
ไม่ทราบจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะเขียนเรื่องอะไร 
          -  ไม่ควรเขียนคำนำที่ยาวเกินไป  ไม่ได้สัดส่วนกับเนื้อเรื่อง  คำนำที่ดีควรมีเพียง
ย่อหน้าเดียวเท่านั้นอาจมีความยาวประมาณ ๕ บรรทัด  (ยกเว้นมีคำประพันธ์ผสมอยู่ด้วย)   
          -  ในการเขียนคำนำไม่ควรออกตัวว่าไม่พร้อม  หรือไม่เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนซึ่ง
อาจมีผลทำให้ผู้อ่านไม่สนใจอ่านก็ได้  
          -  คำนำที่ดี  คือ  คำนำที่บอกให้รู้ได้ทันทีว่าจะเขียนอะไร  และต้องเขียนให้กระชับ
และเร้าความสนใจด้วย  
          ตัวอย่างการเขียนคำนำที่ดี
          คำนำเริ่มด้วยการยกคำพูด  คำคม  หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
          “ใครทำให้ข้าเสียใจชั่วครู่  ข้าจะทำให้มันเสียใจไปตลอดชีวิต”  เป็นคำกล่าวของ
พระนางซูสีไทเฮาผู้ยิ่งใหญ่    ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง  ซึ่งมิใช่คำขู่หรือคำเล่าลือที่ไร้
ความจริง ความยำเกรงของผู้คนทั้งในราชสำนักทหารพลเรือนและประชาชนทั่วแผนดินที่
มีต่อพระนางเป็นสิ่งยืนยันคำกล่าวข้างตนนี้เป็นอย่างดีและยังบอกให้รู้ถึงอำนาจอันล้นฟ้า
ของผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์และองค์จักรพรรดิเป็นเวลานานถึง ๔๗ ปี”
  (ดวงดาว  ทิฆัมพร.  “ซูสีไทเฮา  หญิงบ้านนอกผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าชีวิต,”  มิติใหม่.  ปีที่ ๑ 
ฉบับที่ ๔, หน้า  ๗๔)

          คำนำที่เริ่มด้วยบทร้อยกรอง
                   “สงสารคำทำการนานแล้ว         ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ
              มันถูกใช้หลายอย่างไม่วางมือ         แต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที
                   ตำรวจเห็นโจรหาญทำการจับ    โจรมันกลับวิ่งทะยานทำการหนี
              ทำการป่วยเป็นลมล้มพอดี              ทำการจี้จับหมายว่าตายเอย” 
          
          วันนี้เริ่มต้นด้วยคำกลอนให้เต็มที่เสียหน่อย  เปล่า  ผู้เขียนไม่ได้เก่งกาจถึงกับแต่ง
ขึ้นมาเองดอกแต่กลอนข้างบนนี้เป็นพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ปรากฏในหนังสือประมวญวัน
เกือบ ๔๐ ปีมาแล้ว  แสดงว่ามีคนรำคาญคำว่า ทำการ กันมานานแสนนานแล้วถึงเดี๋ยวนี้
ก็ยังรำคาญอยู่  เพราะแม้แต่ในรายงการโทรทัศน์ยอดนิยม  รายการหนึ่ง  คือ  รายการ
ภาษาไทยวันละคำ  ก็ยังกล่าวไว้  
            (นิตยา  กาญจนวรรณ, “เรื่องของ “ทำการ”,” ใน พูดจากภาษาไทย, หน้า ๑๕๙)  


          คำนำที่โน้มน้าวและชักจูงให้ผู้อ่านเห็นคล้อยตาม

          กินมากแล้วก็ต้องอ้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้ ๆ กันอยู่  แต่คนสมัยนี้ไม่อยากอ้วน
เพราะอ้วนแล้วสร้างปัญหาให้มากมาย  ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเกาต์ และโรคความ
ดันโลหิตสูง บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนส่วนใหญ่จึงอยากจะผอม  แต่ถ้าต้อง
การผอมก็หยุดกิน  เรื่องที่จะทำให้คนอ้วนหยุดกินเป็นการแนะนำง่าย  แต่ปฏิบัติตามได้ยาก  
การสอนคนอ้วนให้กินอย่างถูกวิธี  จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

         (วินัย  ดะส์ลัน,  “กินให้ผอม.”  เนชั่นสุดสัปดาห์,  ปีที่ ๔ แบบฉบับที่ ๑๙๖,  (๘-๑๔ 
มีนาคม ๒๕๓๙)

  คำนำที่กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเขียนเพื่อนำเข้าสู่เรื่อง
          ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด
 ได้แก่  สถูปเจดีย์และสถูปเจดีย์ที่มีทั้งความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแห่งหนึ่ง
 คือ พระปฐมเจดีย์  
         (วิบูลย์  ลี้สุวรรณ, “พระปฐมเจดีย์”  ใน ๕ นาทีกับศิลปะไทย,  หน้า ๒๓๓.)

   คำนำที่เริ่มด้วยคำถามหรือข้อความน่าประหลาดใจ  
          ในนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีข้อความบางตอนอ้างถึงของวิเศษ
อย่างหนึ่งเรียกว่าตราราหู มีลักษณะประหลาดโดยรูปลักษณ์และคุณสมบัติทำให้เกิดความ
ทึ่งแก่ผู้อ่านว่า  สิ่งนี้คืออะไรแน่  และสุนทรภู่ไปได้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งนี้มาจากไหน เรื่อง
ตราราหูเป็นอย่างไรน่าจะพิจารณาดู  
          (ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา.  “ตราราหูในพระอภัยมณี.”  ใน วรรณวิทยา.  หน้า ๙๑)  



วิธีการเขียนสรุป
          การสรุปควรมีเนื้อหาสอดคล้องกับคำนำและประเด็นของเรื่อง  ย่อหน้าสรุปไม่ควรยาว  
(ประมาณ ๕-๗ บรรทัด  อาจมีคำประพันธ์ประสมอยู่ด้วย)  แต่ให้มีใจความกระชับประทับใจ
ผู้อ่าน  วิธีการสรุปมีหลายวิธี  นักเรียนอาจนำวิธีการเขียนคำนำบางวิธีมาใช้ในการสรุปได้ 
เช่น  การสรุปด้วยคำถาม  การสรุปด้วยคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรอง
หรือสรุปด้วยข้อความที่ให้แง่คิด  เป็นต้น

 ตัวอย่างการเขียนสรุปความที่ดี

          การสรุปด้วยการฝากข้อคิดและความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน

          ดังนั้นถ้าเราอยากให้น้ำใจเกิดขึ้นในสังคมของเรา  ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองกัน
ทุกคน  อย่ามัวเรียกร้องให้คนอื่นมีน้ำใจเพราะถ้าเราไม่มีน้ำใจ การเรียกร้องให้ผู้อื่นมีน้ำใจ
ต่อเราจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว  และถ้าเรามีน้ำใจแล้วก็ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมีน้ำใจ  
น้ำใจของเราต่างหากที่จะเพาะความมีน้ำใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องเรียกร้อง  
(ปรีชา ช้างขวัญยืน.“คอลัมน์ปากกาขนนก เรื่องน้ำใจ,สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์.ปีที่ ๔๑ 
ฉบับที่ ๒๗,หน้า  ๕๘.)
          การเขียนสรุปด้วยข้อคำคม  สุภาษิต  และบทร้อยกรอง
          ขณะนี้วิชชาอันเนื่องมากจากลัทธิบริโภคนิยมได้เข้าไปสั่นคลอนจรรยาบรรณในทุก
วิชาชีพ  ทำให้ผู้คนมักมากและมีวิธีการสร้างความยอมรับแปลกๆ ไม่ได้เว้นแม้แต่นักวิชาการ
และครูบาอาจารย์ โชคยังดีอยู่บ้างที่ยังเหลือ ผู้เข้มแข็งออกมาแสดงบทบาทให้ในระดับ
สาธารณะอยู่บ้างประปราย  เป็นกระแสธารน้อยที่ไหลแรงมิพักจะหยุดไหลมีบทบาท  
สมดังคำยกย่องของกวีของชาติ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์  ที่ว่า 
                   ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด          ให้รู้ถูกรู้ผิดคิดอ่านเขียน
         ให้รู้ทุกข์ยากรู้พากเพียร                     ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้สร้างงาน
                   ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์  ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน
         ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์                      ปณิธานเพื่อมวลชนใช่ตนเอง
                     (กมลสมัย  วิชิระไชยโสภณ. นักวิชาการกับสังคม, “ก้าวไกล”. ปีที่ ๔
ฉบับที่ ๑๒,หน้า ๒๓)  

          การเขียนสรุปด้วยคำถามให้ผู้อ่านเก็บไปคิดหรือไตร่ตรองต่อไป  
          ภาษาไทยปัจจุบันนี้กำลังเสื่อมมาก   ถึงเวลาหรือยังที่เราจะคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริง
จังน่าจะกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาลได้แล้วว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการค้นคว้าศึกษา
เรื่องภาษาไทยเพื่อเป็นการให้ภาษาไทยมีความเจริญมั่นคง สมกับที่ภาษาเป็นวัฒนธรรม
สำคัญยิ่งของชาติ  
                      (เปลือง ณ นคร. “ศาลฎีกาแห่งภาษา”. สารสถาบันภาษาไทย. ปีที่ ๑
ฉบับที่ ๓, หน้า ๒๔.)

          การเขียนสรุปด้วยการชักชวนให้ปฏิบัติตาม
          ที่กล่าวมานั้นเป็นวิธีการโกงการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ควรใช้วิจารณญาณของท่านตัดสินดูพฤติกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าเป็นเช่นไร หากพบ
เห็นความไม่ชอบมาพากล  หรือพบการทุจริตอย่างเห็นได้ชัด  อย่างคิดว่าธุระไม่ใช่  แต่ควร
แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อขจัดคนเลวให้พ้นจากวงจรประชาธิปไตยของเรา 
ขอให้เราเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้เพื่อประชาธิปไตยที่สดใสของเราในวันหน้า  
               (สำนักงานสารนิเทศ. “การซื้อเสียง”, ในใจถึงใจ เล่ม ๒. หน้า ๕๑.)

การใช้โวหารในการเขียน
          โวหาร  หมายถึง  วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง  
โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ  ได้แก่  พรรณนาโวหาร  บรรยายโวหาร  
อุปมาโวหาร  เทศนาโวหาร  สาธกโวหารและอธิบายโวหาร

            ๑. บรรยายโวหาร  หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จ
จริงตามลำดับเหตุการณ์  เป็นการเขียนตรงไปตรงมา  ไม่เยิ่นเย้อ  มุ่งความชัดเจนเพื่อให้
ผู้อ่านได้รับความรู้  ความเข้าใจ  เช่น  การเขียนเล่าเรื่อง  เล่าเหตุการณ์  การเขียนรายงาน  
เขียนตำราและเขียนบทความ

          “ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอ  ตัวมันสูงใหญ่  ใบหูไหวพะเยิบ  
หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง  เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา
          ๒. พรรณนาโวหาร  หมายถึง  การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล  
สิ่งของ ธรรมชาติ  สภาพแวดล้อม  ตลอดจนความรู้สึกต่าง ๆ ของผู้เขียน  โดยเน้นให้ผู้อ่าน
เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
           สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัด  ผิวขาวละเอียดเช่น
เดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน  นิ้วเล็กเรียว  หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม
          ๓. เทศนาโวหาร  หมายถึง  การเขียนอธิบาย  ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ  ชี้ให้เห็นประโยชน์
หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง  เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม  เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่ง
สอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน

          “ การทำความดีนั้น  เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน  อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย  ราวกับว่าการทำ
ความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก  ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา  ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียง
ครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่อีก  คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี  จึงจะเป็นความ
ดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น
          ๔. อุปมาโวหาร  หมายถึง  การเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน  
เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น  โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบ
เทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง  หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความ
ที่ขัดแย้งกัน

          “ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณ  ย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต  
ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์  ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน
          ๕. สาธกโวหาร  หมายถึง  การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อ
สนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
          “ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน  แม้แต่สัตว์ก็
ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ  เมื่อกวนอูตายแล้วม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำ
และตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า  ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน

หลักการใช้สำนวนภาษาในเรียงความ
          ๑. ใช้ภาษาให้ถูกหลัก
          ๒. ไม่ควรใช้ภาษาพูด
          ๓. ไม่ควรใช้ภาษาแสลง
          ๔. ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น
          ๕. ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล
          ๖. ผูกประโยคให้กระชับ

สิ่งที่ควรคำนึงในการเขียนเรียงความ
          ๑.  เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน  มีความเป็นเอกภาพ  
และแต่ละย่อหน้า ต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์  เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน
            ๒.  การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ  จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียง
ความในเรื่องที่ตนเอง มีความรู้และความสนใจ  รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด

            ๓.  การเลือกใช้ถ้อยคำ  ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน  มีการใช้โวหาร
ประกอบ  ใช้ภาษาระดับทางการ  ส่วนภาษาพูด  คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควร
นำมาใช้ในการเขียนเรียงความ

        ๔.  กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์  การเว้นวรรคตอน  การเรียบเรียง
ถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง  สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะ
ช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงาม       และน่าติดตามอ่านจนจบ 
       เมื่อนักเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการเขียนเรียงความมาโดยลำดับ  นับตั้งแต่การ
เลือกเรื่องการเขียนโครงเรื่อง  การเรียบเรียงเนื้อเรื่องตามองค์ประกอบของเรียงความและ
การเขียนย่อหน้าที่ดีนักเรียนก็จะได้เรียงความ
เรื่องหนึ่ง  แต่เรียงความเรื่องนั้นยังนับว่าไม่สมบูรณ์  ถ้านักเรียนยังไม่ได้ทบทวนเพื่อแก้ไขปรับ
ปรุง  การตรวจทานเป็นขั้นตอนการเขียนขั้นสุดท้ายที่จำเป็น  ไม่ควรละเลยขั้นตอนนี้อย่าง
เด็ดขาด  เพราะจะได้ตรวจทานว่าเรื่องนั้นมีภาษาและเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่  เพื่อจะได้ปรับปรุง แก้ไขให้สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งก่อนส่งครู


เทคนิคการฝึกฝนการเขียนเรียงความ
          ๑. เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ
          ๒. เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องง่าย ๆ
          ๓. การเขียนครั้งแรกอาจเขียนเป็นประโยคคร่าวๆ ไว้ก่อน เพื่อเป็นการสร้างโครงเรื่อง
          ๔. ฝึกขยายข้อความจากประโยคหรือโครงเรื่องที่ตั้งไว้
          ๕. ลงมือเขียนทันทีที่พบเห็นสิ่งใดหรือเมื่อเกิดความคิดขึ้น
         

ตัวอย่างรียงความที่ดี (ที่ได้รับรางวัลการประกวด)


                            เรียงความเรื่อง "ทำไมเราจึงรัก พระเจ้าอยู่หัว"
                                                               โดย นางสาวมยุดา สมเพ็ชร 

           หนูเป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่ปักษ์ใต้  ตั้งแต่จำความได้ในทีวีหนูก็เห็นรูปผู้ชายคนหนึ่ง
เดินนำหน้าแล้วมีผู้คนเดินตามหลังท่านมากมายไปหมด  พร้อมกันนั้นก็มีผู้คนนั่งกับพื้นต้อน
รับท่านทุกที่ที่ท่านไป  ผู้ชายคนนั้นเป็นใครนะ  จนโตหนูถึงได้รู้ว่า  เขาคือผู้เป็นเจ้าของ
แผ่นดินเกิดของหนูเอง  และหนูก็เห็นพระราชกรณียกิจของท่านเยอะแยะมากมายทางทีวี
จนทำให้หนูปลาบปลื้มท่านมากยิ่งเป็นช่วงหน้าฝน  ฝนตกหนัก  น้ำท่วมท่านก็เสด็จไปปักษ์
ใต้เพื่อดูปัญหาความเดือดร้อน และท่านก็โปรดให้สร้างเขื่อนคลองชลประทาน ส่วนช่วง
หน้าแล้งท่านก็เสด็จไปภาคอีสานไปดูความแห้งแล้งของคนอีสาน  และท่านก็ทำฝนเทียม
ช่วยเหลือประชาชน 
           หนูได้แต่คิดตลอดเวลาว่า... ทำไมผู้ชายคนนี้ต้องลำบากตัวเองขนาดนี้  ท่านเดิน
ทางไปทุกที่ที่ทุรกันดารและสุดแสนจะลำบาก  ท่านทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทั้งประเทศ  
ท่านทรงเก่งมากสามารถรู้หมดว่าในพื้นที่เมืองไทยว่าตรงไหนเป็นภูมิประเทศลักษณะไหน  
แอ่งน้ำ  ภูเขา  อย่างเช่น ใกล้บ้านหนูที่ อ.ปากพนัง  ท่านก็ทำอ่างเก็บน้ำใหญ่โตมากเพื่อเพา
ะเลี้ยงสัตว์น้ำ  และอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณ 
อ.ปากพนัง  ญาติพี่น้องหนูที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ประกอบอาชีพทั้งการเกษตรและเพาะ
เลี้ยงสัตว์น้ำได้ทั้งปี 
           สำหรับตัวหนูแล้ว  หนูคิดและฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งหนูจะต้องเห็นผู้ชายคนนี้ตัวจริง ๆ 
สักครั้งในชีวิต แล้วหนูก็มีความพยายามมาก  คือวันที่ 4ธันวาคม 2549 ซึ่งก่อนวันเกิดท่าน 
วัน  เพราะวันที่ ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวันพ่อแห่งชาติหนูทราบข่าวว่าท่านจะเสด็จ
กลับจากวังไกลกังวล  เพื่อมาร่วมงานที่ทางรัฐบาลได้จัดขึ้น  หนูก็เลยมารอรับเสด็จท่าน
อยู่หน้าโรงเรียนสวนจิตรลดา  ท่านเสด็จมาตอนเกือบ ทุ่ม ท่านนั่งมากับพระราชินี  
พระราชินีท่านโบกมือให้หนู แต่พระเจ้าอยู่หัวนั่งนิ่งมากค่ะ  แต่หนูเห็นพระพักตร์ท่านชัดมาก 
หนูดีใจมาก  และก่อนหน้านี้หนูก็ไปงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ มิถุนายน 
2549 ที่มีผู้คนเป็นแสน  หนูก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความพยายาม  หนูขอลาพักร้อนไป วัน 
เพื่อไปเฝ้ารับเสด็จท่านที่ลานพระรูปทรงม้า หนูตื่นตั้งแต่ ตี ซื้อน้ำเปล่า ขวด กับ 
ขนมปัง ถุง เพื่อไปรอรับเสด็จท่าน  ถึงขนาดที่รอนั้นหนูลำบากขนาดไหนห้องน้ำก็ไม่พอ  
ร้อนก็ร้อน  แต่หนูทนได้ค่ะ  เพราะหนูคิดว่า...ท่านทรงเหนื่อยกว่าหนูมากมายนัก  และท่าน
ก็เหนื่อยมาตลอดชีวิตของท่านเพื่อประชาชนของท่าน  และท่านก็ออกมาจากหน้าต่างมา
โบกไม้โบกมือให้กับหนูและคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่  และทุกท่านก็โบกธงและพูดพร้อมกันว่า...
           ขอให้ท่านทรงพระเจริญ  ทรงพระเจริญ  พร้อม ๆ กันเสียงก้องดังมาก  หนูคิดว่า
สิ่งที่หนูเห็นและได้ยินนั้นคือ บารมีที่ท่านได้ทำไว้ทุกคนพร้อมใจกันเปล่งเสียงดังตะโกน
โดยไม่มีใครมาบอกคนที่นั่งว่าต้องตะโกนแบบนี้นะ  แต่ทุกคน ก็เปล่งเสียงดังออกมาพร้อมกัน
หนูรู้สึกปลาบปลื้มใจมากจนขนลุกซู่
           หนูคงบรรยายความรู้สึกที่มีต่อท่านได้ไม่หมดหน้ากระดาษแค่แผ่นเดียว  เพราะ
ทุกกิจกรรม ไม่ว่าที่เมืองทองที่ท้องสนามหลวง  หรือซุ้มที่ถนนราชดำเนินทั้งนอกและใน  
และกับคนเป็นหมื่น ๆ ค่ะ ที่หนูไปต่อคิวเพื่อรอรับพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว 
           วันนั้นหนูยืนต่อคิวและกลับถึงบ้าน ตี หนูก็ทำมาแล้ว เพื่อพระฉายาลักษณ์ของ
ท่านเพียงรูปเดียว และล่าสุดหนูได้ไปร่วมงานของสโมสรสันติบาลจัดขึ้น  เนื่องใน
วันฉัตรมงคลที่ลานพระรูปทรงม้า  หนูไปมาเมื่อวันที่พ.ค. 53 ไปนั่งดูพระกรณียกิจ
ของท่าน  นั่งดูแล้วถึงกับน้ำตาซึมเลยทีเดียว  เพราะท่านทรงเหน็ดเหนื่อยมากจริง ๆ ค่ะ
แล้วหนูก็กลับมาคิดว่าตอนนี้ท่านไม่สบายอยู่ที่ รพ.ศิริราช  อาจเป็นเพราะเมื่อตอนที่ท่าน
ร่างกายแข็งแรงท่านทรงทำงานหนักมากโดยไม่ย่อท้อเลย  พอท่านอายุเพิ่มมากขึ้น
ทำให้ร่างกายของท่านทรุดโทรมมาก
           สำหรับหนูแล้ว  หนูคิดว่าท่านไม่ใช่คนธรรมดาคนหนึ่ง  แต่ท่านเกิดมาพร้อมบารมี
อันศักดิ์สิทธิ์  ท่านเหมือนพระพุทธเจ้า  ซึ่งหนูคิดเองอยู่ตลอดเวลาสำหรับหนูแล้วกระดาษ
ที่เป็นรูปท่าน  หรือปฏิทินหนูไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้นอกจากเก็บไว้ 
           อีกอย่างหนึ่งที่หนูอยากจะกล่าวในบทความนี้  คือการใช้ชีวิตแต่พอเพียงอย่างที่ท่าน
ให้ข้อคิดไว้  ทุกวันนี้ท่านสอนเกษตรกร  หากมีพื้นที่ทำกินอยู่แปลงหนึ่ง  ต้องแบ่งทำมาหา
กินอย่างไรบ้าง  ส่วนหนึ่งปลูกบ้าน ส่วนหนึ่งเลี้ยงปลา อีกส่วนหนึ่งปลูกผัก  หนูเองก็ใช้
ชีวิตอย่างนั้น  หนูทำงานอยู่ที่นี่ถือว่าเงินเดือนหนูน้อยก็จริง  แต่หนูก็ใช้ชีวิตไม่ฟุ่มเฟือย 
แบ่งเงินเป็น ส่วน ส่วนหนึ่งเก็บฝากแบงค์ประจำ  ส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายภายใน เดือน  
อีกส่วนหนึ่งก็ซื้อของให้รางวัลตัวเองบ้าง  หนูอยากให้ทุกคนทำอย่างนี้ค่ะ  จะได้สบาย
ไม่มีหนี้สินกัน 
           สุดท้ายนี้  หนูคิดว่าเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน  หนูไม่ต้องคิดทำโครงการใหญ่
โตอลังการหรอกค่ะ  แค่หนูเป็นคนดีในสังคม  และไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็
เพียงพอแล้วค่ะ  ท่านจะได้สบายใจ  ไม่เครียด และจะได้ไม่มีผลต่อกระทบต่อร่างกาย
ของท่าน  ท่านจะได้มีความสุข  สุขภาพแข็งแรง  อยู่คู่บ้านคู่เมืองกับคนไทยทั้งประเทศ
ตลอดไปยิ่งยืนนานค่ะ


เอกสารอ้างอิง
   กัลยา  สหชาติโกสีย์ และคณะ.  ๒๕๕๑.  หลักภาษาไทย ม.๒ (ครูมือครู).   

            อักษรเจริญทัศน์ อจท.  กรุงเทพฯ.

 เทคนิคการเขียนเรียงความ. ๒๕๕๕. (ออนไลน์).  สืบคนจาก    
                  :http://variety.horoworld.com [๒๕ธันวาคม ๒๕๕๖]

ใบงานที่ ๑


ใบงานที่ ๑
เรื่อง การเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์
คำชี้แจง
        ๑. ใบงานเรื่อง การเขียนเรียงความเชิงสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้
           เรื่อง การเขียนเรียงความ ในวิชาภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ มุ่งเน้นผลงานการเขียนเรียงความ
           เชิงสร้างสรรค์ผ่านสื่อเว็บบล็อก
        ๒. ให้นักเรียนอ่านและทำความเข้าใจรายละเอียดในใบงาน และปฏิบัติตามขั้นตอนของการปฏิบัติงานในกิจกรรม
           นี้ให้ละเอียด ครบถ้วน และปฏิบัติโดยเคร่งครัด

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
        ๑. ใบความรู้ที่ ๑  เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ
        ๒. ใบความรู้ที่ ๒  เรื่อง เทคนิคการเขียนเรียงความ
        ๓. แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมที่ผู้สอนเตรียมให้ในเว็บบล็อก
        ๔. แหล่งความรู้เพิ่มเติมที่ผู้เรียนสืบค้นเพิ่มเติมด้วย Google

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
        ๑. ให้นักเรียนเขียนเรียงความ โดยการโพสต์ลงในเว็บบล็อกของผู้สอน ที่อยู่เว็บบล็อก คือ
http:// krujindapitak.blogspot.com  โดยให้นักเรียนเลือกขอบข่ายเนื้อหาและกำหนดชื่อเรื่องเรียงความ ให้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในสามจังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี หรือนราธิวาส) โดยใช้ขอบข่ายเนื้อหาในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ดังนี้
            - วิถีชีวิตหรือการประกอบอาชีพ
            ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือตำนาน เรื่องเล่า
            ประเพณี หรือศิลปวัฒนธรรม
            - โบราณสถาน โบราณวัตถุ
            แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
            โดยเลือกเขียนเรียงความเพียงเรื่องเดียว จากขอบข่ายหัวเรื่อง เช่น  กำหนดชื่อเรื่อง
            “มัสยิดกรือเซะ แหล่งท่องเที่ยวศาสนสถานคู่เมืองปัตตานี”
            “น้ำตกทรายขาว แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติชายแดนใต้
            ฯลฯ
        ๒.  ส่วนประกอบของเรียงความ ต้องประกอบด้วย ส่วนนำ เนื้อหา สรุปตามหลักการเขียนเรียงความ
ที่ดี และต้องตรวจสอบการใช้คำให้ถูกต้อง
        ๓.  ส่วนประกอบของ บทนำ เนื้อหา สรุป สามารถ แทรกภาพ วีดิทัศน์ หรือลิงก์ ที่เกี่ยวข้องและจัดวาง         ให้เหมาะสมและสวยงามได้
        ๔. ในส่วนท้าย (ต่อจากสรุป) ให้แสดงแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งค้นคว้าที่มาของข้อมูลหรือภาพที่ศึกษามา          
ดังตัวอย่าง
·       แหล่งอ้างอิง
o   ประวัติมัสยิดกรือเซะ – http://th.wikipedia.org/มัสยิดกรือเซะ
        ๕. การโพสต์เรียงความ ให้นักเรียนกำหนด ป้ายกำกับ (Tag) ประกอบด้วยคำสำคัญแยกเป็นจังหวัด ได้แก่ ยะลา หรือ ปัตตานี หรือ นราธิวาส  และแยกเป็นประเด็นของเรื่องเรียงความ เช่น วิถีชีวิต  แหล่งท่องเที่ยว  ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถาน โบราณวัตถุ  (สามารถมีมากกว่า ป้ายกำกับได้ในแต่ละเรื่อง)
        ๖. เมื่อผู้สอนตรวจประเมินผลงานเรียงความแต่ละครั้งแล้ว ให้ผู้เรียนปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของผู้สอนภายใน ๑ สัปดาห์ (ให้พิจารณาคะแนนและข้อเสนอแนะของผู้สอนที่เสนอไว้ต่อท้ายเรียงความ)
        ๗. กรณีมีปัญหาให้สอบถามผู้สอนผ่านอีเมลคือ  jinjinpitak@gmail.com หรือ Facebook ของรายวิชา
กำหนดส่งและตรวจประเมินผลงาน (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
        ครั้งที่ ๑  ภายในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  เวลา ๒๔.๐๐ น.
        ครั้งที่ ๒  ภายในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  เวลา ๒๔.๐๐ น. (ปรับตามข้อแนะนำของผู้สอนครั้งที่ ๑)
        ครั้งที่ ๓  ภายในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๒๔.๐๐ น. (ปรับตามข้อแนะนำของผู้สอนครั้งที่ ๒)

เกณฑ์การประเมินคะแนน (คะแนนเต็ม ๓๐ คะแนน)
ประเด็น
การประเมิน
(องค์ประกอบ)
เกณฑ์การให้คะแนน
๑. ชื่อเรื่อง           และการวาง        โครงเรื่อง       
ชื่อเรื่องไม่          เหมาะสม        และวางโครงเรื่อง
ไม่เหมาะสม
ชื่อเรื่องพอใช้ 
และวางโครงเรื่อง ไม่เหมาะสม
ชื่อเรื่องดี และวางโครงเรื่องพอใช้
ชื่อเรื่องเหมาะสม  และวางโครงเรื่องได้ดี
ชื่อเรื่องเหมาะสมและวางโครงเรื่องได้ดีมาก
๒. การเขียนคำนำ
คำนำมาก หรือน้อยเกินไป
มีคำนำ แต่ไม่มีเอกภาพ
มีคำนำ มีเอกภาพพอสมควร
มีคำนำ มีเอกภาพเหมาะสมดี 
มีคำนำ มีเอกภาพดีมาก
๓. การเสนอ
   เนื้อเรื่อง
เนื้อหาไม่น่าสนใจ และไม่เป็นลำดับและไม่สมบูรณ์
เนื้อหาน่าสนใจ 
นำเสนอเรื่องไม่เป็นลำดับ และไม่สมบูรณ์
เนื้อหาน่าสนใจ 
นำเสนอเรื่องได้ดี แต่เนื้อหาไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์
เนื้อหาน่าสนใจ 
นำเสนอเรื่องได้ดี เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ดี
เนื้อหาน่าสนใจ 
นำเสนอเรื่องได้ดี เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ดีมาก
๔. การสรุปเรื่อง
ไม่มีส่วนสรุปเรื่อง
มีส่วนสรุปเรื่อง 
แต่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหา
มีส่วนสรุปเรื่อง สอดคล้องกับเนื้อหาน้อย
มีส่วนสรุปเรื่อง สอดคล้องกับเนื้อหาดี
มีส่วนสรุปเรื่อง สอดคล้องกับเนื้อหาดีมาก
๕. การใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาเหมาะสมกับ
   เนื้อเรื่อง
ภาษาที่ใช้มีภาษาพูดจำนวนมาก และมีคำผิดจำนวนมากและไม่สละสลวย
ภาษาที่ใช้มีภาษาพูดแทรกอยู่ด้วย และมีคำผิดอยู่บ้างและไม่สละสลวย
ภาษาที่ใช้มีสำนวนโวหารบรรยาย 
แต่ยังไม่น่าสนใจ 
มีคำผิดอยู่บ้าง
ภาษาที่ใช้มีสำนวนโวหารบรรยายพรรณาได้อย่างน่าสนใจ
มีคำผิดน้อยมาก
ภาษาที่ใช้มีสำนวนโวหารบรรยาย พรรณาได้
อย่างน่าสนใจมาก ไม่มีคำผิด
๖. การมีเอกภาพ สัมพันธภาพ ของเรื่องมีภาพ      หรือวีดิทัศน์ที่ใช้สัมพันธ์กับเนื้อหา
ไม่มีเอกภาพ ไม่มีสัมพันธภาพ
ไม่มีเอกภาพ ไม่มีสัมพันธภาพ 
แต่มีภาพหรือวีดิโอแทรกในเรียงความ
ย่อหน้ามีเอกภาพ มีสัมพันธ์ภาพ
อยู่บ้าง มีภาพ 
หรือวีดีโอแทรก
ในเรียงความ
ย่อหน้ามีเอกภาพ มีสัมพันธ์ภาพดี
มีภาพหรือวีดีโอแทรกในเรียงความเหมาะสมกับเนื้อหา
มีเอกภาพ
มีสัมพันธ์ภาพดี
มีภาพหรือวีดีโอแทรกในเรียงความเหมาะสมกับเนื้อหาดีมาก  
และน่าสนใจมา