ใบความรู้ที่ ๑

ใบความรู้ที่ ๑

เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ
ความหมายของเรียงความ
              เรียงความเป็นงานเขียนชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมีจุดประสงค์จะถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทรรศนะ ความรู้สึก ความเข้าใจออกมาเป็นเรื่องราวด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างชัดเจนและท่วงทำนองการเขียนที่น่าอ่าน

การเลือกเรื่องที่จะเขียนเรียงความ
              หากจะต้องเป็นผู้เลืิอกเรื่องเอง ควรเลือกตามความชอบ หรือตามความถนัดของตนเอง การค้นคว้าหาข้อมูลอาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วรสาร อินเตอร์เน็ต หรือสื่ออื่นๆ

องค์ประกอบของการเรียงความ
               เรียงความมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน ที่สำคัญคือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป งานเขียนทุกประเภทจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังกล่าว  พร้อมกลวิธีการเขียนเรียงความต่อไปนี้
1. คำนำ  คำนำจะอยู่ส่วนต้นของเรียงความ ถือเป็นส่วนแรกที่ออกประเด็นให้ผู้อ่านทราบว่าจะเขียนอะไร เป็นส่วนที่ชักนำผู้อ่านให้สนใจ ทำให้เรื่องน่าอ่านยิ่งขึ้น คำนำจึงต้องเขียนให้กระชับ กระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน วิธีการเขียนคำนำทำได้หลายวิธี ดังนี้
  • การยกคำพูด คำคมหรือสุภาษิตที่น่าสนใจ สอดคล้องกับเนื้้อหา
  • เรอ่มด้วยคำประพันธ์หรือบทกวีที่น่าประทับใจ
  • เริ่มด้วยคำถามหรือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องกระทำ
  • การให้คำจำกัดความ
  • ข้อความที่กระตุ้นที่ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม
2. เนื้อเรื่อง  เนื้อเรื่องจะอยู่ถัดจากคำนำ จะมีกี่ย่อหน้าก็ได้แล้วแต่ขนาดของเนื้อเรื่อง เรียงความที่ดีจะต้องมีความเป็นเอกภาพ คือ มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันและไม่กล่าวนอกเรื่อง จะต้องมีสัมพันธภาพเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบตลอดทั้งเรื่อง มีการวางโครงเรื่องและจัดย่อหน้าไปตามลำดับมีการเรียบเรียงถ้อยคำที่เหมาะสมและมี สารัตถภาพ คือ มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่อง แต่ละย่อหน้าจะต้องมีใจความสำคัญที่ชัดเจนและมีประโยคขยายความที่มีน้ำหนัก ช่วยให้ประโยคใจความสำคัญนั้นมีความสบูรณ์ยิ่งขึ้น

3. สรุป  สรุปจะอยู่ท้ายข้อความ ทำหน้าที่ปิดเรื่องเป็นการฝากข้อคิด ความรู้ ความประทับใจแก่ผู้อ่าน การเขียนสรุปมีหลายวิธี ผู้เขียนต้องเลือกให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง การสรุปอาจสรุปด้วยคำถาม ข้อคิด สุภาษิต บทร้อยกรอง อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยใช้ถ้อยคำที่กระชับ คมคาย เพื่อให้ผู้อ่านประทับใจและนำข้อคิดไปใช้ได้

การวางโครงเรื่องก่อนเขียน
               เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว ต้องวางโคงเรื่องโดยคำนึงถึงการจัดการจัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพัธ์ต่อเนื่องกัน เช่น
  • จัดลำดับหัวข้อตามเวลาที่เกิด
  • จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่
  • จัดลำดับตามความนิยม
               โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน โครงเรื่ิองเปรียบเสมือนแปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน การเขียนดครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เขียนเรียงความได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่องเรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามตามที่ผู้เขียนต้องการ

การเขียนย่อหน้า
               การย่อหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านอ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็วมีช่องว่างให้ได้พักสายตา ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้าและนำย่อหน้าแต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน ในย่อหน้าหนึ่งๆต้องมีสาระเพียงประการเดียว ถ้าจะขึันสาระใหม่ให้เขียนในย่อหน้าต่อไป  ดังนั้น การย่อหน้าจะมากหรือน้อยอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง แต่อย่างน้อย เรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า คือ ย่อหน้าที่เป็นคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป

การเชื่่อมโยงย่อหน้า
               การเชื่อมโยงย่อหน้าทำให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้าเรียงความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วย ย่อหย้าหลายย่อหน้าตามความเหมาะสมจะทำให้ข้อความเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน วิธิการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกันกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่อง ซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธี คือ
         ๑. การลำดับย่อหน้าตามเวลาอาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
         ๒.  การลำดับย่อหน้าตามสถานที่ เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่ หรือตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
         ๓.  การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ  เรียงลำดับความสำคัญมาที่สุด  สำคัญรองลงมาถึงสำคัญน้อยที่สุด
         ๔.  การเรียงย่อหน้าตามเหตุผล  อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผล หรือผลไปหาเหตุ



ตัวอย่างการเขียนเรียงความ (แสดงให้เห็นคำนำ เนื้อเรื่อง)

                                                                               เรียงความเรื่อง "วันพ่อแห่งชาติ"
                                                                                                   โดย นายวุฒิชัย  เจาะโพ
               ชายคนหนึ่งต้องทำงานหนัก ชายคนหนึ่งต้องตื่นแต่เช้า ชายคนหนึ่งต้องหาเช้ากินค่ำ ชายคนหนึ่งต้องตากแดดตากฝน ชายคนหนึ่งต้องอดมื้อกินมื้อ ชายคนหนึ่งกินข้าวไม่เคยอิ่ม ชายคนหนึ่งต้องใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ชายคนหนึ่งต้องทำไร่ทำนา ชายคนหนึ่งเคยผ่านอะไรมามากมาย ชายคนหนึ่งโดนมีดบาดมือเป็นประจำ ชายคนนั้นสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี ชายคนนั้นอายุมากแล้ว ชายคนนั้นเฝ้ารอคอยการกลับมาของใครบางคน ชายคนนั้น....ก็คือพ่อของผม
               ผมเป็นลูกชาวนาจนๆคนหนึ่ง ในช่วงหน้าฝนนั้นพ่อจะพาผมไปที่ไร่เพื่อดายหญ้า ถางหญ้าล้อมรอบๆ ไร่ เพื่อไม่ให้วัวควายเข้าไปในไร่ ให้วัวความเข้าไปเฉพาะในนาเท่านั้น พ่อของผมไม่ค่อยได้พักผ่อน เพราะมีงานให้ทำอยุ่มากมาย พ่อมักโดนมีดบาดอยู่เสมอ เพราะท่านเป็นคนที่ขยัน เร่งรีบ และใจร้อน พ่อของผมท่านต้องทำงานเกือบทุกอย่างเพื่อทำหน้าที่ผู้นำครอบครัว ผมมีพี่น้องอยู่หลายคน แต่ส่วนใหญ่แล้วแต่งงานกันหมดแล้ว ต้องสร้างครอบครัวของตนเอง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามาดูแลพ่อกับแม่ ส่วนที่เหลือก็กำลังเรียนอยู่ พี่สาวของผมที่กำลังเรียนอยู่นั้นได้กลับบ้านเป็นประจำเพราะโรงเรียนอยู่ไม่ค่อยไกล เป็นลูกคนสุดท้องไม่ค่อยได้กลับบ้าน เพราะโรงเรียนผมอยู่ห่างไกลจากบ้าน ทำให้ไม่ค่อยได้อยู่ดูแลพ่อกับแม่ ซึ่งท่านทั้งสองมีอายุมากแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถทำเพื่อท่านได้ นั่นก็คือ ตั้งใจเรียนสวดมนต์อธิฐานภาวนาเพื่อท่านให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พ่อมักจะสอนอยู่เสมอว่าต้องตั้งใจเรียน เรียนให้สูงๆจะได้มีงานทำที่ดีไม่ต้องลำบากเหมือนกับท่าน พ่อสอนสานตะกร้าด้วยไม้ไผ่ ทำด้ามมีด ด้ามจอบ ด้ามเสียม ลับมีด เลื้อยไม้ ตอกตะปู และอะไรๆอีกมากมาย พอถึงหน้าฝนพ่อจะสอนให้ผมดำนาเป็น เกี่ยวข้าวเป็น ตีข้าวเป็น ตำข้าวเป็น
              ในตอนเด็กๆ นั่น พ่อผมจะเล่านิทานให้ผมฟังก่อนนอนทุกครั้ง ตอนนี้ ผมยังจำนิทานทุกเรื่องที่พ่อเล่าให้ผมฟังได้อยู่ ตอนนี้พ่อของผมอายุมาแล้ว ทำให้สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง พ่อมักจะปวดหลัง ปวดหัวอยู่เสมอ ผมจึงนวดหลังให้พ่ออยู่เสมอเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย เมื่อถึงเวลาปิดเรียนแล้วนั้น ผมต้องเดินทางไปเรียนทุกครั้งที่ผมจะไปเรียนนั้น แม่ของผมท่านจะร้องไห้ทุกครั้ง ผมต้องปลอบใจแม่ทุกครั้ง ผมเป็นห่วงท่านทั้งสอง และคิดถึงท่านทั้งสองอยู่เสมอ
               เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาตินี้ผมขอให้พ่อมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ และอยากบอกว่า    "ผมรักพ่อ"

เอกสารอ้างอิง
              ประนอม  วิบูลย์พันธ์ และคณะ. ๒๕๕๔.
หลักภาษาและการใช้ภาษา
                        สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.). กรุงเทพฯ. การเขียนเรียงความ. ๒๕๕๖. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http//th.wikipedia.org [๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖]

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณครูครับ ยังไงฝากปรับปรุงแผนการสอนในบล็อก ตามที่กลุ่มคุณครูสอนภาษาไทยได้ปรับปรุงแล้วครับ ดาวน์โหลดได้จาก http://thai3p.blogspot.com ดูตัวอย่าง http://krusirichai.blogspot.com ครับ หากมีข้อสงสัยยินดีแนะนำครับ หรือประสาน อ.จันทนา อ.ฟูไดละห์ อ.อิมรอน หรือคุณนิลได้ตลอดเวลาครับผม

    ตอบลบ